หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็คือกรอบเวลานั่นเอง หากไม่มีสิ่งนี้แล้วการเทรดก็คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
มาดูกรอบเวลาและวิธีการนำไปใช้งานกัน หลังจากที่อ่านบทความนี้ คุณจะได้เรียนรู้วิธีการใช้งานหลายกรอบเวลาพร้อม ๆ กันในการเทรดของคุณ ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบเทรดของคุณมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก
กรอบเวลาคืออะไร?
กรอบเวลา คือ ช่วงเวลาที่ราคาเคลื่อนไหว
ตัวอย่างเช่น หากกรอบเวลาคือ 5 นาที ก็หมายความว่าคุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาทุก ๆ 5 นาที บนกราฟของสินทรัพย์ที่คุณเลือก ส่วนการใช้กราฟแท่งเทียนญี่ปุ่นหรือกราฟแท่ง หมายความว่าแท่งเทียนหรือแท่งกราฟใหม่จะปรากฏบนกราฟทุก ๆ 5 นาที
หากกรอบเวลาคือ 1 วัน แท่งเทียนหรือแท่งกราฟใหม่ก็จะปรากฏขึ้นทุกวันทำการใหม่
ในการเทรดให้ประสบความสำเร็จ ก่อนอื่นคุณต้องเลือกกรอบเวลาที่คุณจะใช้ในกลยุทธ์การเทรดและที่จะรับสัญญาณจากระบบเทรดเพื่อเปิด/ปิดธุรกรรม
กรอบเวลานี้เรียกว่ากรอบเวลาเทรด
เมื่อเลือกกรอบเวลาคุณควรคำนึงถึงกฎต่อไปนี้:
ยิ่งเลือกกรอบเวลาสูงขึ้น ความแม่นยำของสัญญาณก็จะยิ่งสูงขึ้น และความเสี่ยงก็จะยิ่งต่ำลง
ยิ่งเลือกกรอบเวลาต่ำลง ความแม่นยำก็จะยิ่งต่ำลง และความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงขึ้น
ในกรอบเวลาที่สูงกว่าแนวโน้มของราคาจะแข็งแกร่งกว่ากรอบเวลาที่ต่ำกว่าเสมอ ตัวอย่างเช่น หากราคากำลังขยับขึ้นในกรอบเวลารายวัน (แนวโน้มขาขึ้น) และราคากำลังเคลื่อนลงในกรอบเวลา 4 ชั่วโมงของสินทรัพย์เดียวกัน (แนวโน้มขาลง) แนวโน้มขาขึ้นจะยังคงแข็งแกร่งกว่าแนวโน้มขาลง
กรอบเวลาใดคือกรอบเวลาหลักของตลาด Forex?
กรอบเวลาหลัก ๆ ในตลาด Forex ประกอบด้วย 1 นาที, 5 นาที, 15 นาที, 30 นาที, 1 ชั่วโมง, 4 ชั่วโมง, 1 วัน, 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน
กรอบเวลาถัดไปของแต่ละรายการจะเป็นกรอบเวลาที่มีเวลานานกว่าเทียบกับกรอบเวลาก่อนหน้า
กรอบเวลาก่อนหน้าแต่ละรายการจะเป็นกรอบเวลาที่มีเวลาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกรอบเวลาถัดไป
การแบ่งกรอบเวลาที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ ต่ำ กลาง และสูง
กรอบเวลาต่ำ คือ 1 นาที, 5 นาที และ 15 นาที
กรอบเวลากลาง คือ 30 นาที, 1 ชั่วโมง และ 4 ชั่วโมง
กรอบเวลาสูง คือ 1 วัน, 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน
โดยการวิเคราะห์กรอบเวลาที่ต่ำกว่า เราจะวิเคราะห์พฤติกรรมราคาในระยะสั้นของสินทรัพย์ ส่วนการตรวจสอบกรอบเวลาระยะกลาง เราจะวิเคราะห์แนวโน้มระยะกลาง และจากการวิเคราะห์กรอบเวลาที่สูงขึ้น เราจะเห็นแนวโน้มระยะยาว
กรอบเวลาใดดีที่สุดสำหรับการเทรด?
มันไม่มีแนวคิดเรื่องกรอบเวลาที่ดีที่สุดในการเทรด หรือกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการเทรดหรอกนะ
การเลือกกรอบเวลาขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของเทรดเดอร์ล้วน ๆ ไม่ว่าจะตามอารมณ์ของพวกเขา กลยุทธ์การเทรดที่พวกเขาเลือก และสินทรัพย์ที่จะเทรด สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในตลาดคือการที่บางกลยุทธ์ที่ทำงานได้ดีในกรอบเวลาต่ำอาจทำงานได้ไม่ดีในกรอบเวลากลางหรือสูง และในทำนองกลับกัน แต่ตลาดนั้นก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ การที่กลยุทธ์ที่เลือกมานั้นไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไปในกรอบเวลาหรือสินทรัพย์ที่เลือกก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น เทรดเดอร์จะต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนกลยุทธ์ เปลี่ยนกรอบเวลา หรือละทิ้งการวิเคราะห์สินทรัพย์นั้น ๆ ไป
กรอบเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเทรดแบบ Scalping
เทรดเดอร์ที่เทรดในกรอบเวลาที่ต่ำกว่าจะถูกเรียกว่าเทรดเดอร์ Scalper
การเทรดแบบ Scalping เป็นแนวทางที่เสี่ยงที่สุดในการเทรด โดยธรรมชาติแล้วมันจะเกี่ยวข้องกับการทำกำไรให้ได้สูงที่สุด
เทรดเดอร์ Scalper จะพยายามทำเงินจากกรอบเวลาที่สั้นมาก ๆ ของการเคลื่อนไหวของราคา และมักจะเปิดและปิดคำสั่งซื้อขายเป็นจำนวนมาก
ในความเห็นของเรา กรอบเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเทรดแบบ Scalping ไม่ใช่ 1 นาที แต่เป็น 5 นาที เพราะการเทรดแบบ Scalping บนกรอบเวลา 1 นาทีนั้นมีความเสี่ยงมากเกินไป
กรอบเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเทรดแบบรายวัน
การเทรดแบบรายวัน เป็นรูปแบบการเทรดที่เปิดและปิดคำสั่งซื้อขายภายในหนึ่งวันทำการ เทรดเดอร์ที่ใช้รูปแบบการเทรดนี้จะถูกเรียกว่าเทรดเดอร์รายวัน (Day Trader)
เทรดเดอร์รายวันจะใช้กรอบเวลาระยะกลางเป็นหลัก ซึ่งกรอบเวลาที่เหมาะสมมากที่สุดคือกรอบเวลา 1 ชั่วโมง
เทรดเดอร์รายวันจะได้รับความเสี่ยงน้อยกว่าเทรดเดอร์ Scalper และพวกเขาจะไม่ถือคำสั่งซื้อขายข้ามคืน
กรอบเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเทรดแบบ Swing
การเทรดแบบ Swing คือ การเทรดภายในหนึ่งสัปดาห์
เทรดเดอร์ Swing จะพยายามจับความเคลื่อนไหวของราคาระหว่างสัปดาห์ ดังนั้นพวกเขาจะใช้กรอบเวลาระยะกลางและสูง
กรอบเวลาที่เหมาะสมกับการเทรดแบบ Swing คือ 4 ชั่วโมง และ 1 วัน
กรอบเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเทรดแบบ Position
การเทรดแบบ Position เกี่ยวข้องกับการใช้กรอบเวลาที่สูงขึ้น
นี่เป็นวิธีการเทรดที่ใช้เวลานานที่สุด
คำสั่งซื้อขายจะถูกเปิดเอาไว้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ และบางครั้งก็เป็นเวลาหลายเดือน
ในกรณีนี้ กรอบเวลาที่เหมาะสมคือ 1 วัน และ 1 สัปดาห์
การวิเคราะห์หลายกรอบเวลา
เดี๋ยวเรามาดูวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเทรดโดยการใช้หลายกรอบเวลาพร้อม ๆ กัน
Alexander Elder นักวิเคราะห์ทางเทคนิคที่มีชื่อเสียง ได้นำเสนอระบบสามหน้าจอที่จะใช้สองกรอบเวลาพร้อมกันเพื่อทำการตัดสินใจอย่างสมดุล กรอบเวลาแรกคือกรอบเวลาเทรด ซึ่งจะเป็นกรอบเวลาที่ใช้เพื่อตัดสินใจเปิด/ปิดสถานะ
กรอบเวลาที่สองคือกรอบเวลาตรวจสอบ มันจะเป็นกรอบเวลาที่อยู่ใกล้กรอบเวลาเทรดมากที่สุด Elder ได้เสนอให้หากรอบเวลาตรวจสอบโดยการคูณกรอบเวลาเทรดด้วย 3, 4 หรือ 5 ตัวอย่างเช่น สำหรับกรอบเวลาเทรด 1 ชั่วโมง กรอบเวลาตรวจสอบก็จะเป็น 1 ชั่วโมง x 4 = 4 ชั่วโมง สำหรับกรอบเวลาเทรด 1 วัน กรอบเวลาตรวจสอบจะเป็น 1 วัน x 5 = 1 สัปดาห์
ดังนั้น แต่ละรูปแบบการเทรดก็จะมีกรอบเวลาตรวจสอบของตัวเอง หรือที่เขาเรียกกันว่ากรอบเวลาแนวโน้ม
หลักการพื้นฐานของการใช้สองกรอบเวลาคือในตอนที่เปิดคำสั่งซื้อขาย แนวโน้มของทั้งสองกรอบเวลาไม่ควรขัดแย้งกัน
ตัวอย่างเช่น เรากำลังเทรดในแนวโน้มและจะเปิดคำสั่งซื้อขายขาขึ้นในกรอบเวลา H1 ในกรณีนี้ ในกรอบเวลา H4 แนวโน้มจะต้องเป็นขาขึ้นด้วย แต่ถ้าหากแนวโน้มในกรอบเวลา H4 เป็นขาลง คุณก็ไม่ควรเปิดธุรกรรมใด ๆ
ในทำนองเดียวกัน สมมติว่าเทรดเดอร์ Swing เปิดคำสั่งซื้อขายขาลงในกรอบเวลา D1 โดยเทรดในทิศทางของแนวโน้มปัจจุบัน ในกรณีนี้ การเคลื่อนไหวจะต้องเป็นตลาดหมีในกรอบเวลาแนวโน้ม W1
สรุป
การเลือกและใช้กรอบเวลาอย่างถูกต้องนั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดของทุกระบบเทรด
กรอบเวลาจะให้ข้อมูลอันมีค่าเกี่ยวกับจุดที่ราคาสามารถไปได้ ดังนั้นมันจึงเป็นผู้ช่วยที่ดีที่สุดของเทรดเดอร์